ภาษาย่อยของภาษาไทย

กัลยา ติงศภัทิย์ (๒๕๒๕). ภาษาและภาษาย่อยในประเทศไทย. เอกสารการสอนชุดวิชาภาษาไทย ๓ หน่วยที่ ๑๕. สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ภาษาย่อยของภาษาไทยแบ่งเป็นประเภทย่อยได้คือ ภาษามาตรฐาน ภาษาถิ่น ภาษาสังคม และภาษาหน้าที่ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

๑. ภาษาย่อยของภาษาไทยในประเภทภาษามาตรฐาน
ได้แก่ ภาษาไทยมาตรฐาน ซึ่งหมายถึงภาษาไทย ที่พูดโดยผู้ที่มีการศึกษาสูงส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สอนวิชาภาษาไทยตามสถานศึกษาต่างๆเป็นภาษา ไทยที่สอนกันในโรงเรียน และเป็นภาษาไทยที่มักจะใช้ในการอ่านข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์

๒. ภาษาย่อยของภาษาไทยในประเภทภาษาถิ่น
ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นต่างๆซึ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มักจำแนกเป็น ๔ ภาษาย่อย ได้แก่ ภาษาไทยถิ่นกลาง ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาไทย ถิ่นใต้
การศึกษาภาษาไทยถิ่นทั้งสี่ ในระดับจังหวัด ทำให้พบว่าภาษาไทยถิ่นแต่ละภาษา อาจแยกเป็นภาษาถิ่นย่อยได้อีก เช่น ภาษาไทยถิ่นใต้ ซึ่งได้มีผู้แบ่งไว้เป็น ภาษาไทยถิ่นใต้เขต ๑ และภาษาไทยถิ่นใต้เขต ๒ เขต ๑ ได้แก่บริเวณจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และเขต ๒ ได้แก่ บริเวณจังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบว่าภาษาไทยถิ่นในจังหวัดต่างๆ และแม้แต่ในบริเวณต่างๆ ของแต่ละจังหวัด ก็มีความแตกต่างกันอยู่โดยเฉพาะในเรื่องของสัทลักษณะ ของเสียงวรรณยุกต์

๓. ภาษาย่อยของภาษาไทยในประเภทภาษาสังคม
ได้แก่ ภาษาของผู้มีการศึกษาสูง ภาษาของวัยรุ่น ภาษาของผู้หญิง ภาษาของผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

๔. ภาษาย่อยของภาษาไทยในประเภทภาษาหน้าที่
ได้แก่ ภาษากฎหมาย ภาษาแพทย์ ภาษาของพระราชวงศ์ ภาษาราชการ เป็นต้น ภาษาไทยมาตรฐาน มีลักษณะทางภาษา หลายประการ ที่คล้ายกับภาษาไทย ที่พูดกันบริเวณภาคกลางของ ประเทศไทย เช่น พยัญชนะ สระ วรรณยุกต์และศัพท์ เป็นต้น แต่เนื่องจากผู้ที่พูดภาษาไทยมาตรฐาน อาศัยอยู่ ในทุกจังหวัด ในประเทศไทย จึงเป็นการเหมาะสมที่จะพูดถึงภาษาไทยมาตรฐาน ในฐานะของภาษาย่อยประเภทหนึ่ง ต่างหากจากภาษาไทยถิ่น

ภาษาไทยมาตรฐาน มีความสัมพันธ์ กับภาษาย่อยในกลุ่มภาษาสังคมอยู่ด้วย คือผู้ที่พูดภาษาไทยมาตรฐาน มักจะเป็นผู้ที่มีฐานะทางสังคมดี และมีการศึกษาสูง นอกจากนี้ ผู้ที่พูดได้ทั้งภาษาไทยถิ่น และภาษาไทยมาตรฐาน มักจะใช้ภาษาไทยมาตรฐาน ในการทำงาน หรือในการติดต่อกับข้าราชการ เป็นต้น ซึ่งแสดงว่า ภาษาไทย มาตรฐาน มีความสัมพันธ์กับภาษาย่อย ประเภทภาษาหน้าที่ อีกด้วย

ภาษาย่อยของภาษาไทยในกลุ่มภาษาถิ่น และในกลุ่มภาษาสังคม มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในทุกถิ่น ภาษามีการเปลี่ยนแปร ตามสถานภาพทางสังคมของผู้พูดเสมอ เช่นใน จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้ จะพูดภาษาที่มีลักษณะทางภาษา แตกต่างกันออกไป พวกที่มีการศึกษาเพียงระดับประถมต้น และประกอบอาชีพทำนา จะพูดภาษา ที่มีลักษณะแตกต่างจากภาษาไทยมาตรฐาน มากกว่าพวกที่มีการศึกษาระดับเดียวกัน หรือระดับสูงกว่า และประกอบอาชีพค้าขาย หรือเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ส่วนพวกที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา และประกอบอาชีพครูหรืออาชีพอื่นๆ ก็มักจะพูดภาษาไทยมาตรฐาน หรือภาษาที่มีลักษณะที่ใกล้เคียง กับภาษาไทยมาตรฐานมาก

สำหรับในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จะมีสถานการณ์ทาง ภาษาอีกแบบหนึ่ง คือคนที่มีการศึกษาน้อย อาจจะพูดได้เฉพาะภาษาของท้องถิ่น ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ ส่วนคนที่มี การศึกษาสูง มักจะพูดได้ ทั้งภาษาท้องถิ่น และภาษาไทยมาตรฐาน และอาจจะมีบางคน ที่พูดภาษาไทยมาตรฐาน ได้คล่องกว่าภาษาท้องถิ่น จะเห็นได้ว่าภาษาย่อย ประเภทภาษาท้องถิ่น และภาษาย่อยประเภทสังคม จะต้องไปด้วยกันเสมอ แต่ในการศึกษาย่อยในประเทศไทย มักมีความจำเป็น ต้องแยกศึกษาภาษา ๒ ประเภทนี้ เพื่อลดจำนวนตัวแปร ให้อยู่ในข่ายที่จะสามารถทำการศึกษาได้

สำหรับภาษาหน้าที่นั้น มีลักษณะที่ต่างจากภาษาย่อยประเภทอื่นๆ คือ ขณะที่ภาษาย่อยประเภทอื่น มีความแตกต่าง ทั้งในด้านของระบบเสียง ศัพท์ และโครงสร้างประโยค ภาษาย่อยประเภทภาษาหน้าที่ จะแตกต่างกันในเรื่องของศัพท์เพียงอย่างเดียว หรือแตกต่างกันในเรื่องของศัพท์ และโครงสร้างประโยค ในเรื่องของระบบเสียง ภาษาย่อยประเภทภาษาหน้าที่ จะไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น ภาษาแพทย์ แตกต่างจากภาษาที่คนธรรมดาใช้พูดกัน ในเรื่องของศัพท์เท่านั้น ภาษาราชการจะแตกต่างจาก ภาษาที่คนธรรมดาใช้พูดกัน ทั้งในเรื่องของศัพท์ และโครงสร้างประโยค เป็นต้น

 


| Return to Thai Regional Folktales Page |

Revised: 28-Jan-98